ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียน
          โรงเรียนวัดเวฬุวัน ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2475 โดยพระภิกษุเพิ่ม เสนาะเสียง เจ้าอาวาสวัดเวฬุวันได้ร่วมกับ  สามเณรเส็ง พวงยาว  ซึ่งท่านเป็นพระภิกษุสามเณรของวัดเวฬุวัน โดยเริ่มแรกได้อาศัยสถานที่ศาลาการเปรียญของวัดเวฬุวันเป็นสถานที่เล่าเรียน ในอดีตตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลบางพูด อำเภอบางกะดี จังหวัดปทุมธานี (ปัจจุบันอำเภอบางกะดีเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเมืองปทุมธานี) เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 4
          วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2479 ทางราชการได้ประกาศตั้งโรงเรียนขึ้นอย่างถูกต้องตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนประชาบาล ตำบลบางพูด 2” ขึ้นกับอำเภอบางกะดี จังหวัดปทุมธานี และทางราชการได้แต่งตั้งให้นายลำยง รักสุข มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่คนแรกของโรงเรียน พร้อมทั้งบรรจุครู 1 คน เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 4 ต่อมาทางราชการได้แต่งตั้งนายวิจารณ์ ดิษฐขำ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่
          พ.ศ. 2491 ทางราชการแต่งตั้งนายเล็ก จะโนภาษ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ และต่อมาได้แต่งตั้งนายภักษ์ โรจนประดิษฐ์ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่
        พ.ศ. 2502 ทางราชการแต่งตั้งนายคง สายจบก มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ และได้ทำการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาประจำโรงเรียนชุดแรกจำนวน 6 ท่าน 
      พ.ศ. 2504 ทางราชการได้แต่งตั้งนายชะม้อย คุ้มครอง มารักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ และต่อมาได้แต่งตั้งให้นายบุญส่ง  ภูมิจันทร์ มารักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ต่อจนถึงปี พ.ศ. 2508 จึงได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่
          พ.ศ. 2510 นายบุญส่ง ภูมิจันทร์ ครูใหญ่โรงเรียนวัดเวฬุวันได้ร่วมกับคณะกรรมการศึกษาของบประมาณเพื่อสร้างอาคารเรียนถาวรแบบ 004 จำนวน 2 ชั้น 8 ห้องเรียนขึ้น  โดยได้รับเงินงบประมาณจำนวน  150,000 บาท และได้รับบริจาคเพิ่มจากพระอธิการถาวร นนฺทโย เจ้าอาวาสวัดเวฬุวันเป็นจำนวน 90,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 240,000 บาท (สองแสนสี่หมื่นบาทถ้วน) ซึ่งสามารถจัดสร้างอาคารเรียนดังกล่าวได้ 6 ห้องเรียน แต่ยังไม่เต็มรูปแบบที่จะต้องมี 8 ห้อง และได้ย้ายนักเรียนจากศาลาการเปรียญของวัดมาเรียนที่อาคารเรียนหลังใหม่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม  พ.ศ.2511
          พ.ศ. 2512 นายบุญส่ง ภูมิจันทร์ ย้ายไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนวัดดาวเรือง ทางราชการแต่งตั้งนางบุญยัง ยุวเวช มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทน
          พ.ศ. 2513 โรงเรียนได้รับการจัดสรรงบประมาณจากทางราชการให้สร้างบ้านพักครู 1 หลัง ราคา 25,000 บาท (สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน) และส้วม 2 ที่นั่ง ราคา 3,000 บาท
          พ.ศ. 2515 โรงเรียนได้รับงบประมาณ 80,000 บาท เพื่อทำการต่อเติมอาคารเรียนเดิมเพิ่มอีก 2 ห้องตามรูปแบบอาคารเรียนถาวรแบบ 004 รวมเป็น 8 ห้องเรียน ตามแปลนเดิม
          พ.ศ. 2516 โรงเรียนได้เปิดทำการสอนประโยคประถมศึกษาตอนปลายขึ้นเป็นปีแรก โดยเริ่มเปิดที่ชั้นประถมปีที่ 5 และขยายเพิ่มไปอีกปีละ 1 ห้อง จนถึงชั้นประถมปีที่ 7
          พ.ศ. 2517 ได้รับอนุญาตให้เปิดสอนชั้นเด็กเล็กเป็นปีแรก และในปีนี้คณะกรรมการศึกษา ครู และผู้ปกครองนักเรียน ได้ร่วมกันบริจาคเงินจำนวน 6,300 บาท เพื่อสร้างเสาธงเหล็ก 3 ท่อนพร้อมฐานคอนกรีต และในปีเดียวกันนี้กรมอนามัย จังหวัดปทุมธานี ได้จัดสร้างถังเก็บน้ำฝนแบบกรมอนามัย 4 ถัง ซึ่งเป็นเงินที่ได้รับจากทางราชการ 6,700 บาท และประชาชนได้ทอดผ้าป่าสามัคคีบริจาคสมทบอีก 6,500 บาท
          พ.ศ. 2519 ได้รับงบประมาณสร้างส้วมครึ่งตึกครึ่งไม้จำนวน 2 ที่นั่ง เป็นเงิน 8,000 บาท และในปีนี้ได้รับงบประมาณจำนวน 28,000 บาท เพื่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 1.25 † 1.00 ตารางเมตร ยาว 36 เมตร และได้รับงบประมาณจากทางราชการอีกครั้งเป็นเงินจำนวน 522,500 บาท และนางประยงค์ รุจิกร บริจาคเพิ่มอีก 40,000 บาท เพื่อสร้างอาคารเรียนแบบ 004 จำนวน 2 ชั้น 8 ห้องเรียน เพิ่มอีก 1 หลัง ซึ่งสร้างได้เพียง 6 ห้องเรียนเท่านั้น
          พ.ศ. 2520 ทางราชการแต่งตั้งนายไพฑูรย์ ชำนาญกิจมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ได้รับงบประมาณ 30,000 บาท สร้างส้วมขนาด 1.50 x 8.50 เมตร พร้อมที่ปัสสาวะชาย และพระอธิการถาวร นนฺทโย เจ้าอาวาสวัดเวฬุวันได้ทำการต่อน้ำบาดาลจากวัดมาใช้ในโรงเรียน
          พ.ศ. 2521 นายไพฑูรย์ ชำนาญกิจ ลาศึกษาต่อครุศาสตร์บัณฑิต (คบ.) ที่วิทยาลัยครูพระนครเป็นเวลา 2 ปี นายละออ สุขสมนิตย์ ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่
          พ.ศ. 2523 ได้รับงบประมาณจากทางราชการจำนวน 170,000 บาท เพื่อสร้างโรงฝึกงาน 1 หลัง
          11 พฤศจิกายน 2530 นายสมพล เพ็ชรจันทร์ ได้รับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ และได้รับการปรับระดับเป็นอาจารย์ใหญ่ระดับ 7 เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2534
          14 กุมภาพันธ์ 2533 คณะกรรมการศึกษา คณะครู และผู้ปกครองนักเรียน โดยการนำของนายประสงค์จานทอง, นายปัญญา สมบุญ, นายบุญชง วัฒนธรรมรัตน์ ได้จัดทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อหาเงินถมสนามฟุตบอลซึ่งเป็นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขังตลอดปี ได้เงินทั้งสิ้น 780,000 บาท และพระครูวรเวชโกศล (ถาวร นนฺทิโย) เจ้าอาวาสวัดเวฬุวัน บริจาค 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,080,000 บาท
          11 มกราคม 2538 ทางราชการแต่งตั้งให้นายประสิทธิ์ แก้วสด มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดเวฬุวัน
          2 กันยายน 2539 คณะกรรมการศึกษาร่วมกับคณะครู นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน ได้ร่วมกันทอดผ้าป่าการศึกษาเพื่อหาเงินบูรณะซ่อมแซมโรงเรียนครั้งใหญ่ เนื่องจากอาคารเรียน 2 หลังชำรุดผุพังมาก ได้เงินทั้งสิ้น 170,000 บาท โดยได้ทำการซ่อมแซมอาคารเรียนทั้ง 2 หลัง พร้อมทาสีภายนอกอาคารเรียนเสร็จสิ้นเมื่อ วันที่ 31 ตุลาคม 2539
          15 ธันวาคม 2539 นายบุญชง วัฒนธรรมรัตน์ ครูโรงเรียนวัดเวฬุวัน ได้ขอรับเงินบริจาคจากบุตร – ธิดา ของคุณพ่อสังวาลย์ คุณแม่สำอางค์ โต๊ะทอง เพื่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ (หอประชุมโต๊ะทอง) เป็นจำนวน 2,210,000 บาท และขอเงินบริจาคจากคณะกรรมการศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียน และผู้ที่มีจิตศรัทธา สร้างห้องน้ำด้านหลังอาคารเอนกประสงค์อีกเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท
          2 กุมภาพันธ์ 2540 คณะกรรมการศึกษา คณะครู และผู้ปกครองนักเรียนได้จัดทอดผ้าป่าการศึกษาหาเงินถมบ่อหลังอาคารเรียน 1 เนื้อที่ประมาณ 25 x 40 ตรม. ลึกประมาณ 5 เมตร เพื่อรองรับอาคารเอนกประสงค์ (หอประชุมโต๊ะทอง) ได้เงินทั้งสิ้น 300,000 บาท ดำเนินการถมบ่อเสร็จสิ้น และทำการก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ต่อไป
            ปี พ.ศ. 2549 คณะกรรมการศึกษาคณะครู ผู้ปกครองนักเรียน ได้ขอเงินงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เพื่อสร้างอาคารเรียนเป็นอาคาร 3 ชั้น มี 6 ห้องเรียน ชั้นล่างเป็นห้องโล่งใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนงบประมาณในการก่อสร้าง 3,800,000 บาท โดยมีนายชาญ พวงเพ็ชร์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ได้จัดสรรงบประมาณมาให้ ใช้ชื่ออาคารนี้ว่า อาคารองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี
          ปี พ.ศ. 2554 คณะครู คณะกรรมการศึกษา ผู้ปกครองนักเรียน จัดทอดผ้าป่าสามัคคี สร้างรั้วโรงเรียนได้เงินประมาณสองแสน และนายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี ได้จัดสรรเงินงบประมาณมาสมทบอีก 700,000 บาท ได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วแต่ยังไม่แล้วเสร็จ
             ปี พ.ศ. 2555 ตลาดเงินทุนหลักทรัพย์ บริจาคโต๊ะเรียน 400 ชุด ซ่อมแซม ปรับปรุงโรงอาหาร และสร้างห้องน้ำ 8 ห้อง
            3 ธันวาคม 2556 นางปรานี อัมระปาล ได้รับแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเวฬุวัน
          ปี พ.ศ. 2557 คณะกรรมการสถานศึกษา คณะครู ผู้ปกครองนักเรียน และผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันจัดงานทอดผ้าป่าสามัคคี สร้างรั้วโรงเรียนด้านทิศตะวันออก  220,000  บาท  (สองแสนสองหมื่นบาท) และทำการปรับปรุงห้องสำนักงาน  โดยติดผ้าม่าน  ติดแอร์  ติดกระจก  พร้อมทั้งปรับปรุงบริเวณใต้อาคารองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีเป็นห้องประชุม  โดยติดเหล็กดัด  ติดกระจก 
            12 มกราคม 2558  นายไวพจน์  แก้วนามไชย ได้รับแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเวฬุวัน
           ปี พ.ศ. 2559  ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี  ก่อสร้างอาคารเรียน  8  ห้องเรียน  จำนวน  1  หลัง  เป็นเงิน  8,190,000  บาท  และได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานก่อสร้างส้วม สปช.605/45  จำนวน  1  หลัง  เป็นเงิน 568,800 บาท  และก่อสร้างส้วมนักเรียนหญิง 6 ที่/49  จำนวน  1  หลัง   เป็นเงิน  491,600  บาท
               21 พฤศจิกายน 2559  นายถวิลวงษ์  ปินะสา  ได้รับแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเวฬุวัน
        
             ปัจจุบันโรงเรียนวัดเวฬุวัน  ตั้งอยู่เลขที่ 124 หมู่ที่ 1  ตำบลบางพูด อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานีเขต 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เปิดทำการสอนชั้นตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 – ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2564 มีนักเรียนทั้งสิ้น  259 คน มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งสิ้น 18 คน ประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษาจำนวน   1  คน ข้าราชการครู จำนวน  12 คน  ครูอัตราจ้าง  3  คน  ธุรการโรงเรียน  1  คน  และลูกจ้างชั่วคราว(นักการภารโรง)  1  คน